8/11/60

ธุรกิจการเกษตร คืออะไร

1. ธุรกิจการเกษตร หมายถึง การดำเนินกิจกรรมทั้งหลายนับตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิต การผลิตสินค้าเกษตรในระดับฟาร์ม การเก็บรักษา การแปรรูปสินค้าเกษตร และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและผลิตผลพลอยได้ ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทุกประเภทถือว่าเป็นธุรกิจการเกษตรทั้งสิ้น

2. ขอบเขตของธุรกิจการเกษตร  ขอบเขตของธุรกิจการเกษตรจึงครอบคลุมธุรกิจทุกอย่างที่ เกี่ยวข้องกับการเกษตร นับตั้งแต่ธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิต ธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตร ธุรกิจการแปรรูปและการค้าสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่สนับสนุนการทำธุรกิจการเกษตรอีกด้วย เช่น การขนส่ง การเงินและคลังสินค้า เป็นต้น

3. ความสำคัญของธุรกิจการเกษตร เมื่อพิจารณาจากความหมายและขอบเขตแล้ว สามารถแบ่งได้ 3 ประการด้วยกัน คือ

 3.1 ความสำคัญในแง่ชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั้งมวล  มนุษย์ที่เกิดมาและมีชีวิต อยู่ได้ย่อมต้องการอาหารเพื่อการบริโภค และใช้สิ่งอื่นเข้าช่วยในการดำรงชีวิต การดำเนินงานธุรกิจการเกษตรเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค การที่ผู้บริโภคได้รับอาหารแต่ละมื้อในวันนี้ เกิดจากการคาดคะเนและการตัดสินใจในการผลิตสินค้าเกษตรก่อนหน้านี้มาระยะหนึ่ง ระยะเวลานี้จะสั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับชนิดของผลผลิต เช่น พวกผักก็ใช้เวลาสั้น แต่ถ้าเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สัตว์ปีกและสุกรก็จะใช้เวลายาวขึ้นไปอีก เป็นต้น ประกอบกับการเกษตรในปัจจุบันมีความแตกต่างกับในอดีต เพราะในอดีตการทำการเกษตรเป็นแบบเลี้ยงตัวเอง ที่แต่ละครัวเรือนจะต้องพยายามผลิตทุกอย่างที่ต้องการใช้ในครอบครัว ถ้ามีเหลือจึงจะขายหรือนำไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านในส่วนที่ตนผลิตไม่ได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ประกอบการเกษตรเป็นแบบการค้า ผลิตสินค้ามาเพื่อขาย แล้วนำรายได้จากการขายมาเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ที่ครอบครัวต้องการ การทำการเกษตรจึงจำเป็นต้องพิจารณาตลาดที่รองรับผลผลิตที่ผลิตขึ้นมา ดังนั้น การดำเนินงานธุรกิจการเกษตร ผู้ทำธุรกิจต้องมองภาพรวมทั้งในด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรควบคู่ไปด้วยกัน นั่นคือ ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของผู้บริโภค และปรับการผลิตและการตลาดให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้น

 3.2 ความสำคัญในแง่ธุรกิจ จากความหมายแสดงให้เห็นว่า กว่าสินค้าเกษตรจะ ผลิตมาได้เกษตรกรจะต้องลงทุนในด้านปัจจัยการผลิต และเมื่อผลิตมาได้แล้ว กว่าสินค้าจะถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้ายจะต้องผ่านคนกลางและกระบวนการต่างๆ มากมายแล้วแต่ชนิดของสินค้า หรือเรียกว่า วิถีการตลาด (Marketing channel) คือ การแสดงให้เห็นว่าสินค้านั้นจากผู้ผลิตผ่านคนกลางประเภทใดบ้าง ในปริมาณร้อยละเท่าใด กว่าจะถึงมือผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ซึ่งบางชนิดออกจากไร่นาก็ไปสู่ผู้ขายปลีกและผู้บริโภคเลย บางชนิดต้องผ่านคนกลางและการแปรรูปหลายขั้นตอน ยิ่งกว่านั้น ผลผลิตบางชนิดไม่ได้ผลิตเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว ยังสนองความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศอีกด้วย เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ กุ้งกุลาดำ ปลาทูนากระป๋อง หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ไผ่ตง และขิงอ่อนดอง เป็นต้น ดังนั้น จึงมีคนกลางประเภทผู้ส่งออกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเห็นได้ว่า ธุรกิจการเกษตร มีนักธุรกิจการเกษตรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าปัจจัยการผลิต จนถึงผู้ค้าปลีกสินค้าเกษตรและผลิตผลพลอยได้ให้กับผู้บริโภคในประเทศ และผู้ส่งออกที่ส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตผลพลอยได้ไปต่างประเทศ ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ที่สนับสนุนในการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจการเกษตร เช่น สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ประกอบการคลังสินค้า หน่วยงานของรัฐและอื่นๆ ในการดำเนินงานธุรกิจ นักธุรกิจการเกษตรเองจำเป็นต้องทราบว่า ลักษณะการดำเนินธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และต้องเกี่ยวพันกับคนอื่นมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจนั้นอยู่รอดและก้าวหน้าต่อไป

 3.3 ความสำคัญในแง่เศรษฐกิจของชาติ ธุรกิจการเกษตรเกี่ยวข้องกับการเกษตร ทั้งหมดและบางส่วนของอุตสาหกรรม และถ้าทำธุรกิจสินค้านั้นให้ครบวงจร หมายถึงว่า หน่วยธุรกิจมีการเปลี่ยนสินค้าเกษตรซึ่งมีลักษณะเป็นวัตถุดิบนั้นให้เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายก่อนที่จะจำหน่ายให้กับผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพดอาจนำมาสกัดน้ำมันข้าวโพดและผลิตเป็นแป้งข้าวโพด หรือนำไปเลี้ยงสัตว์เป็นการผลิตสัตว์แทนที่จะส่งออกในรูปของเมล็ดข้าวโพด การกระทำดังกล่าวจะต้อง มีการลงทุนด้านต่างๆ ที่ต่อเนื่องกัน มีการใช้ผลิตผลและปัจจัยการผลิตอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หรือเรียกว่า การผลิตเป็นแบบอนุกรม สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตนั้น และสร้างงานมากมายให้กับคนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการเกษตรในประเทศไทยในปัจจุบันมีสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ทำธุรกิจได้ครบวงจร เช่น ข้าวโพดซึ่งในอดีตผลิตมาเพื่อการส่งออกเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ แต่ในปัจจุบันนำมาใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ในประเทศมากจนกระทั่งผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องมีการนำเข้ามาบางส่วน ทำให้ประเทศไทยนอกจากส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์แทนแล้ว ยังสร้างงานในธุรกิจการเลี้ยงสัตว์และธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ ผักและผลไม้บางชนิดก็มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก แต่ก็มีสินค้าเกษตรอีกหลายชนิดที่ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีและมีอุปสรรคอื่นๆ ที่ไม่สามารถทำให้ธุรกิจครบวงจรได้ เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในรูปของมันเส้นและมันอัดเม็ดยังมีการใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้ในวงจำกัด ยางพารามีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่จะแปรรูปในขั้นต่อไปจึงต้องส่งออกในรูปของยางแผ่นรมควัน ประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางได้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 และกาแฟ มีอุปสรรคในการส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป จึงยังจำเป็นต้องส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นต้น คือ เมล็ดกาแฟแทน ถ้าประเทศไทยสามารถนำสินค้าเหล่านี้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่ตลาดต้องการได้ นอกจากลดปัญหาความผันผวนของราคาสินค้าขั้นต้นที่รัฐบาลต้องเข้าไปแทรกแซงโดยตลอดแล้วยังก่อให้เกิดการลงทุนที่ต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้คนในชาติมีงานทำมากขึ้นและมูลค่าสินค้านั้นเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมที่ทำ

4. องค์ประกอบของระบบธุรกิจการเกษตร โครงสร้างของระบบธุรกิจการเกษตรของ ประเทศไทยสามารถจำแนกออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายดำเนินการและฝ่ายสนับสนุน ดังนี้
 4.1 ฝ่ายดำเนินการ  หมายถึง ฝ่ายที่ดำเนินกิจกรรมทั้งหลายนับตั้งแต่การผลิตและ จำหน่ายปัจจัยการผลิต การผลิตสินค้าเกษตรในระดับฟาร์ม การเก็บรักษา การแปรรูปสินค้าเกษตร และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและผลิตผลพลอยได้  ฝ่ายดำเนินการจำแนกออกเป็น 6 ระบบย่อย ได้แก่
1)      ระบบย่อยปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร
2)      ระบบย่อยการผลิตสินค้าเกษตร
3)      ระบบย่อยการจัดหาสินค้าเกษตร
4)      ระบบย่อยการแปรรูป/การเก็บรักษาสินค้าเกษตร
5)      ระบบย่อยการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร
6)      ระบบย่อยการส่งออกสินค้าเกษตร
 4.2 ฝ่ายสนับสนุน หมายถึง  องค์กรหรือหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับฝ่ายดำเนินการ ทำให้ฝ่ายดำเนินการสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | coupon codes