5/9/62

แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง



ตลอดเวลากว่า 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยต่อสถานการณ์และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในยุคโลกาภิวัตน์ จนกระทั่งเข้าสู่ห้วงเวลาที่ประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 และภายหลังจากวิกฤติปัญหา พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้ ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้วยปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง


ทรงเตือนทุกฝ่ายให้รู้จักคำว่า “เพียงพอ” อย่าทำอะไรเกินตัว ทำอะไรรอบคอบ ไม่ประมาท ดำรงชีวิตอย่างสมถะและสามัคคี จึงจะนำพาตนเองและประเทศชาติให้รอดพ้นภาวะวิกฤติต่าง ๆ และนำไปสู่ความสุขได้
เมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้ชื่อ “80 พรรษาปวงประชา เป็นสุขศานต์” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยกำหนดให้มีการจัดประกวดผลงาน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกิจกรรมสำคัญในการเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ โดยแบ่งประเภทการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคลและประเภทธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลและองค์กรภาคธุรกิจ ที่ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และการบริหารกิจการ จนเกิดผลสำเร็จและยั่งยืน อีกทั้งเป็นตัวอย่างในการนำไปประยุกต์ และปฏิบัติในการดำเนินชีวิต หนึ่งของผู้ที่ชนะการประกวด คือ นายบุญเป็ง จันต๊ะภา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ผลงาน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ นายบุญเป็งเป็นเกษตรกรบ้านห้วยก้างปูล้าน ตำบลไม้ยา อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ผู้ผสมผสานการทำเกษตรที่หลากหลาย จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
เดิมทีนายบุญเป็งเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ยากจน ถึงขั้นต้องออกขอทานเพื่อหาอาหารมาใส่ท้อง หลังจากได้ร่ำเรียนในวัด ก็นำหลักคุณธรรมมาใช้ในชีวิต พอมีครอบครัว ก็ประกอบอาชีพโดยยึดหลักอิทธิบาท 4 และพรหมวิหาร 4 ปี 2529 ไปทำงานที่ประเทศบรูไน หวังให้ฐานะครอบครัวดีขึ้น แต่ไม่สำเร็จจึงเดิน ทางกลับมา กับเงินเก็บเพียงสองพันกว่าบาท ต่อมาได้ประมาณตนเองและปรับความคิดว่า ถ้ามีความขยันเหมือนกับทำงานที่บรูไน อยู่เมืองไทยก็คงมีรายได้อย่างพอเพียง ปี 2542 รัฐบาลให้มีการพักชำระหนี้ แต่บุญเป็งพักไม่ได้ เนื่องจากมียอดหนี้เกินแสน เลยนำเอา ปฏิทินรูปในหลวงมาตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าและครอบครัวจะขยันเพิ่มขึ้น ลดละเลิกบางสิ่งบางอย่างที่ไม่จำเป็น กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กินและจะขอปลดหนี้ภายใน 4 ปี โดยจะยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการ
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปรัชญาที่ชี้การดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชน ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ โดยผู้ปฏิบัติจะต้องมีคุณลักษณะที่เป็นฐานราก คือ มีทั้งความมีเหตุผล ความพอประมาณ ความมีภูมิคุ้มกัน ความรอบรู้ และความมีคุณธรรม ซึ่งหลักการต่าง ๆ หัวหน้าครอบครัวจันต๊ะภา วัย 54 ปีผู้นี้ ได้นำมาปรับใช้ในชีวิตได้อย่างดี ทีเดียว
นายบุญเป็ง พึ่งพาตนเองครบวงจรอย่างสมบูรณ์ ด้วยการเกษตรอินทรีย์ทฤษฎีใหม่ ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ทำให้ประหยัดเงินลงทุนเกิดรายได้จากการเลี้ยงปลา และผลผลิตทางการเกษตรตลอดปี ไม่สร้างหนี้สินให้เป็นภาระ ไม่เบียดเบียนตนเอง รวมทั้งรู้จักเรียนรู้การใช้ทรัพยากรในพื้นที่หรือของเสียให้เกิดประโยชน์ สูงสุดประกอบอาชีพการเกษตรผสมผสาน ปรับปรุง และพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามแนวทางทฤษฎีใหม่อย่างสม่ำเสมอ จนประสบความสำเร็จและยังถ่ายทอดความรู้ช่วยเหลือสังคม จนได้รับรางวัลมากมายในปัจจุบัน รู้จักอดออมไม่มีหนี้สิน ทำให้การดำเนินชีวิตไม่เดือดร้อน พื้นที่แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่จะปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก และยึดถือคติการเป็นลูกจ้างตนเอง ดีกว่าเป็นนายจ้างคนอื่นลงแรงทำทุกอย่างด้วยตนเอง ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์กับความรู้ใหม่ ๆ ได้ไปศึกษาดูงานมา
บนพื้นที่ 10 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา มีการแบ่งสัดส่วนตามหลักทฤษฎีใหม่ได้อย่างลงตัว เป็นนาข้าว 5 ไร่ ปลูกข้าวเหนียวปีละ 1 ครั้ง ได้ผลผลิต 850 กิโลกรัมต่อไร่ โดยปลูกสลับกับข้าวโพด แตงโม แตงไทย แหล่งน้ำใช้จากอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้าน มีระบบส่งน้ำผ่านพื้นที่ทำกิน มีสระน้ำขนาด 20×20×4 จำนวน 2 บ่อ มีบ่อน้ำขนาดเล็กอีก 20 บ่อ อีก 5 ไร่ ปลูกผัก สมุนไพร ไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง กล้วย และส่วนสุดท้ายเป็นบ้านพักอาศัย เป็นเรือนพอเหมาะกับครอบครัว มีโรงเลี้ยงสัตว์ ประเภท กระบือ สุกร ไก่พื้นเมืองและจิ้งหรีด
จากการประสบความสำเร็จในชีวิตของนายบุญเป็งนับเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่าง ดี ว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อครอบครัวและส่วนรวม หากรู้จักคิด ใช้ อยู่ กิน อย่างพอเพียง ชีวิตก็ดำรงได้อย่างยั่งยืนมั่นคง ภายใต้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นในตอนนี้.
ขอขอบคุณ : เดลินิวส์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | coupon codes